ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์
 
สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอลับแล
 
http://laplaedistrict.uttaraditlocal.go.th
 
เมนูหลัก
หน้าหลัก
ข้อมูลพื้นฐาน
ประวัติความเป็นมา
สภาพทั่วไป
สภาพสังคม
สภาพเศรษฐกิจ
บริการขั้นพื้นฐาน
ผลิตภัณฑ์ในตำบล (OTOP)
สถานที่สำคัญ/แหล่งท่องเที่ยว
เกี่ยวกับเรา
วิสัยทัศน์/พันธกิจ
ยุทธศาสตร์
โครงสร้างองค์กร
บทบาทหน้าที่
แผนพัฒนาท้องถิ่น
คณะผู้บริหาร
นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอลับแล
เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
สำนักปลัด
กองคลัง
กองช่าง
กองการศึกษา
กองวิชาการและแผนงาน
กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
ข่าวรับสมัครโอน/ย้าย
ITA
ITA ปี พ.ศ. 2563
ข่าวสาร
ข่าวกิจกรรม
ปฏิทินกิจกรรม
ข่าวรับสมัครโอน/ย้าย
สินค้า OTOP
ระเบียบ
หนังสือสั่งการ สถ.
พรบ./พรก.
กฎระเบียบกระทรวง
คำสั่ง สถ.
มติ ก. อบจ.
มติ ก. เทศบาล
มติ ก. อบต.
ข้อบัญญัติ
รายรับรายจ่าย
รายงานการประชุม
ติดต่อเรา
ติดต่อหน่วยงาน
แผนที่ดาวเทียม
คู่มือประชาชน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของเมืองลับแล
อำเภอลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จมาเมื่อปี พ.ศ. 2444 ความเป็นมาของคำว่า "ลับแล" นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า  เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นป่ารก หลบซ่อนตัวง่าย และภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจกและไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาดซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
                 ลับแลในปัจจุบันเป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ถูกจัดว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจดี ประชาชนมีอาชีพ ทำนา ทำสวน ทำไร่ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยล้านนา (คนเมือง) เพราะใน 8 ตำบลของอำเภอลับแลเป็นชาวเมืองเหนือ 6 ตำบล คือ ตำบลฝายหลวง ตำบลแม่พูล ตำบลนานกกก ตำบลชัยจุมพล เทศบาลตำบลศรีพนมมาศและตำบลด่านแม่คำมัน มี 2 ตำบลเป็นชาวเมืองเก่าสุโขทัย คือ ตำบลทุ่งยั้งและตำบลไผ่ล้อม การแบ่งแยกดังกล่าวมีภาษาพูดและวิถีการดำเนินชีวิตเป็นเกณฑ์
คำว่า  “ลับแล”  หมายตามรูปศัพท์ว่า  “ที่ซึ่งมองดูไม่เห็น”  เป็นชื่อเมืองที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ  เพราะเมืองลับแลตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ลี้ลับซับซ้อน  เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแต่ป่าไม้  ไม่ค่อยพบเห็นบ้านเรือน  กล่าวกันว่าหากคนต่างถิ่นหลงเข้าไปในดินแดนเมืองลับแลอาจหาทางออกไม่ได้  เพราะภูมิประเทศเมืองลับแลเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน  มีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำแม้ดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว  เพราะมีดอยม่อนฤาษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์  ป่าบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า  “ลับแลง”  ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็นคำว่า  “ลับแล”  และด้วยเหตุที่ชาวลับแลส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนทุเรียน  สวนลางสาด  ซึ่งอยู่บนภูเขา  ดังนั้นผู้ชายลับแลจึงต้องไปใช้ชีวิตในสวนเป็นเวลานานๆปล่อยให้ภรรยาและลูกๆหลานๆ  อยู่เฝ้าบ้าน  เมื่อผู้คนผ่านไปมา  พบเห็นแต่ผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่  จึงให้ฉายาเมืองลับแลว่า  “เมืองแม่ม่าย” 
เมืองลับแลในนิยาย
                 เรื่องเล่าในนิยายต่อไปนี้จะเกี่ยวเนื่องถึงตำนาน เมืองแม่ม่าย เริ่มจาก ครั้งหนึ่งมีหนุ่มเมืองใต้ (เมืองทุ่งยั้ง) แอบเดินทางหลงป่าไปทางเหนือได้เห็นสาวสวยออกจากเมืองลับแลมาโดยซ่อนกุญแจไว้ ชายหนุ่มจึงแอบขโมยกุญแจไว้และใช้เล่ห์กล มนต์อุบาย เกี้ยวพาราสีจนสาวหลงเชื่อพาไปอยู่กินเป็นสามีในเมืองลับแล ชายหนุ่มได้เห็นความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของเมืองแต่มีแต่ผู้หญิงสาวสวยทั้งหมด ด้วยเหตุที่เมืองลับแลเป็นเมืองลี้ลับคนภายนอกไม่สามารถจะเข้าไปในเมืองได้ ชาวเมืองลับแลเป็นผู้ยึดมั่นในศีลธรรมผู้คนเคร่งครัดปฏิบัติธรรมเป็นนิจไม่มีการกล่าววาจาหรือกระทำโกหกหลอกลวงกัน ต่อมาชายหนุ่มกับสาวงามเมืองลับแลได้มีลูกด้วยกันหนึ่งคน วันหนึ่งผู้เป็นไปธุระนอกบ้านชายหนุ่มจึงอยู่กับลูก ลูกเกิดร้องไห้หาแม่ชายหนุ่มจึงพูดโกหกลูกว่า แม่มาแล้ว เพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ ชาวบ้านได้ยินคำโกหกของชายหนุ่มจึงขับไล่ชายหนุ่มผู้นั้นออกจากเมืองภรรยาซึ่งรักสามีก็ไม่อาจช่วยได้ และเกรงว่าสามีจะได้รับความลำบากจึงแอบเอาของสำคัญใส่ย่ามให้สามีโดยกำชับว่าเมื่อถึงบ้านให้เอาออกมาดูห้ามเอาออกมาดูระหว่างทาง เมื่อเดินทางพ้นเมืองลับแลชายหนุ่มจึงอยากรู้ว่าภรรยาเอาอะไรใส่ถุงให้เพราะหนักจึงเอาออกมาดูก็เห็นขมิ้นเต็มถุงย่ามจึงเอาออกขว้างทิ้งเกือบหมดเหลือตกค้างอยู่เพียงเล็กน้อย ครั้นกลับถึงบ้านจึงเล่าเรื่องราวเมืองลับแลให้เพื่อน ญาติพี่น้องฟังพร้อมกับยืนยันคำพูดด้วยการเอาขมิ้นติดถุงย่ามออกมาอวดปรากฏว่าขมิ้นนั้นเป็นทองคำ ด้วยความเสียดายจึงชวนพรรคพวก ญาติพี่น้อง ออกตามไปเก็บขมิ้นที่ขว้างทิ้งระหว่างทางแต่หาทางเก่าไม่พบและไม่เห็นทางเข้าเมืองลับแล ด้วยเหตุนี้เมืองลับแลจึงเป็นเมืองอาถรรพ์ที่ชายหนุ่มทั้งหลายหวังจะเข้าไปแต่ไม่มีใครเข้าไปได้อีกเลย เป็นแต่เล่าต่อๆกันมาเป็นนิยายปรัมปราจวบจนทุกวันนี้
 
 
ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวเมืองลับแล
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะอนุมานได้ว่าที่เมืองทุ่งยั้ง แต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน เพราะได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสำริด ได้ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายลง คนไทยก็ได้เข้ามาครอบครองและตั้งเมืองขึ้นเรียกชื่อว่า "เมืองกัมโภช"
ในยุคเดียวกับการรวมตัวของเมืองกัมโภช ได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบเขาแห่งหนึ่งและตั้งชื่อ บ้านว่า "บ้านเชียงแสน" ต่อมาคนกลุ่มนั้นก็แยกย้ายกันไปหักล้างถางดงสร้างบ้านเมือง ขึ้นกระจัดกระจายตามที่ราบและไหล่เขาต่าง ๆ  มาตั้งเมืองที่ป่าลับแล ให้ชื่อว่าเมืองลับแล และสร้างวังขึ้นที่บ้านท้องลับแล หรือที่บริเวณวัดเจดีย์คีรีวิหาร
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่ากลุ่มชนแรกที่มาอยู่ในบริเวณเมืองลับแลในปัจจุบัน
นั้นอพยพมาจากอาณาจักรเชียงแสนโบราณ (โยนกนาคพันธุ์) (ภาพ:การแต่งกายของชาวลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5) เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสนล่มสลายลง อาณาจักรล้านนาเฟื่องฟูแทน เมืองลับแลก็ยอมขึ้นกับอาณาจักรล้านนา ใน พ.ศ. 1690 อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้น ก็เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1981 เมืองทุ่งยั้ง ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น เพราะเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา เมืองลับแลจึงได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้ง
     ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับแลในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้โปรดให้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ และยุบเมืองทุ่งยั้งรวมกับลับแลและสถาปนาเมืองลับแลขึ้นเป็นอำเภอ ส่วนอาคารที่ทำการยังตั้งอยู่ที่เมืองทุ่งยั้ง บริเวณใกล้เวียงเจ้าเงาะ
ต่อมาพระพิศาลคีรี ได้ย้ายอาคารที่ทำการไปตั้งที่ม่อนจำศีลในปีเดียวกันนี้ (ห่างจากที่ว่าการ อำเภอปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ครั้นถึง พ.ศ. 2457 สมัย พระศรีพนมมาศ (เมื่อครั้งเป็นหลวงศรีพนมมาศ) เห็นว่าห่างไกลจากตัวเมืองลำบากแก่ราษฎรไปติดต่อ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสงวนที่ม่อนจำศีล เป็นที่ประดิษฐานพระเหลือ (พระพุทธรูปที่สร้างจากทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก) เพราะทรงเห็นว่าทิวทัศน์ของม่อนจำศีลคล้ายกับเมืองชวา จึงได้ย้ายอาคารที่ทำการจากม่อนจำศีล มาอยู่ที่ ม่อนสยามมินทร์ (ชาวบ้านเรียกม่อนสามินทร์) เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน
อีกหนึ่งตำนานความเชื่อ  เชื่อว่า  :  ในยุคเดียวกับการรวมตัวของเมืองกัมโภช ได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบเขาแห่งหนึ่งและตั้งชื่อ บ้านว่า "บ้านเชียงแสน"  และได้อัญเชิญ  เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร       มาปกครอง  โดยข้อสันนิฐานนั้น  เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร  น่าจะเป็นสิ่งที่บุคคลในสมัยก่อนกล่าวอ้างขึ้นมา  โดยอาจจะเป็นพระเสื้อเมืองทรงเมืองตามความเชื่อของชาวล้านนา  ที่เปรียบดั่งเทพารักษ์  มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากศัตรูมารุกราน ปัจจุบันได้สร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารไว้ที่บริเวณเชิงเขาม่อนอารักษ์  ได้มีการทำพิธีแห่น้ำขึ้นโรง (การบวงสรวงประจำปี)  เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
การแต่งกายของชาวลับแล
 
                   การแต่งกายของชาวไท – ยวน (ลับแล) นั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม สวมใส่ในชีวิตประจำวันหรือออกงานบุญใหญ่ ๆ โดยมีการจำแนก ดังนี้
  • ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ – รัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                   ผู้ชาย เสื้อที่ใส่ออกงาน เป็นแบบพิธีการ โดยทั่วไปมักสวมเสื้อสีขาวคอกลมผ่าอก มีทั้ง แขนสั้น แขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) หรือใส่เสื้อราชปะแตน เสื้อสีขาวคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง)
                   ส่วนเวลาที่อยู่บ้านหรือไปไร่นา ส่วนใหญจะไม่สวมเสื้อ นุ่งเพียงกางเกงขาก๊วย หรือนุ่งโจงกระเบนที่เป็นผ้าฝ้าย  เรียกว่า หยักรั้ง หรือนุ่งผ้าลอยชาย และใช้ผ้าคาดเอว
หมายเหตุ การนุ่งผ้าส่วนใหญ่จะนุ่งเหนือเข่าเพราะหากนุ่งต่ำกว่าเข่าจะเป็นชนชั้นขุนนางหรื ผู้มีบรรดาศักดิ์
                   ผู้หญิง ในช่วงนี้มักใช้ผ้าคาดอกห่มทับด้วยสไบแพรแบบเต็มตัว นุ่งซิ่นธรรมดา (ผู้สูงวัย) หากเป็นผู้หญิงที่ยังเป็นสาวหรือวัยทำงานเวลาไปงานบุญงานบวชจะใช้ผ้าคาดอกห่มทับด้วยสไบแพร นุ่งซิ่นตีนจก (ลายดอกเคี้ยะ กาฝากแดง , กาฝากเขียว)
                   เด็กผู้ชาย สวมเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง/ผ้าฝ้าย) บางครั้งก็ไม่สวมเสื้อ
                   เด็กผู้หญิง สวมผ้าแถบนุ่งซิ่นธรรมดาเวลาอยู่บ้าน หากออกงานก็จะนุ่งซิ่นตีนจกแบบเด็ก
  • ในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                   ผู้ชาย ก็ยังคงสวมเสื้อขาวคอกลมผ่าอกนุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) หรือราชปะแตน เสื้อสีขาวคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง) ออกงานพิธีการแบบยุคก่อน
                   ส่วนเวลาที่อยู่บ้าน ส่วนใหญ่จะไม่สวมเสื้อ นุ่งเพียงกางเกงขาก๊วย หรือนุ่งโจงกระเบน ที่เป็นผ้าฝ้าย  เรียกว่านุ่งผ้าหยักรั้ง หรือนุ่งผ้าลอยชาย และใช้ผ้าคาดเอว
                   ผู้หญิง นิยมสวมเสื้อห้อยบ่าห่มทับด้วยสไบผ้าดำและขาว (ผ้าฝ้าย) เวลาไปงานบวชงานบุญจะนุ่งซิ่นตีนจกเกล้าผมมวย ใช้ไม้สอยให้ฟู เรียกว่า หวีผมชักหงีบ ตรงเกล้าจะดึงผมออกมาเป็นบ่วง เรียกว่า ชักมวย
                   เด็กผู้ชาย สวมเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง/ผ้าฝ้าย) บางครั้งก็ไม่สวมเสื้อ
                   เด็กผู้หญิง จะนุ่งซิ่นธรรมดาเวลาอยู่บ้าน หากออกงานก็จะนุ่งซิ่นตีนจกแบบเด็ก
หมายเหตุ  ผู้ชายและเด็กชาย ยังคงนิยมแต่งกายเหมือนยุคก่อน
                   เสื้อเก๋ง เป็นเสื้อที่สวมใส่ได้ทั้งชายและหญิง  มักใส่ไปทำไร่ทำนา เพราะเสื้อเก็ง มีสีครามเข้มทำให้ไม่เลอะเทอะ  เวลาสวมใส่ทำงาน
                   ช่างขับซอ ผู้หญิงจะมีแบบฟอร์มโดยเฉพาะ คือ ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวสีเขียว นุ่งซิ่นตีนจกทับไว้ข้างใน ห่มสไบทับ  เพื่อสะดวกในการฟ้อน
5 วิถีการดำเนินชีวิต 8 วิถี ของเมืองลับแล
1.วิถีในด้านที่อยู่อาศัย
เฮือนลับแล
เป็นอาคารไม้ยกใต้ถุนสูง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เรือนใหญ่ (อยู่ทางทิศตะวันออก) ,ชาน (อยู่กลาง) และยุ้งข้าว (อยู่ทิศตะวันตก) มีครัวไฟอยู่ทางทิศใต้ มีร้านน้ำอยู่ติดกับครัวไฟ มีบันไดอยู่ทางทิศเหนือ
เสาเรือน เป็นเสาไม้ที่ใช้ขวานถากเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม โดยการสร้างเรือนจะใช้สิ่วเจาะหัวเสา เพื่อใส่ตงลอดให้เสายึดกัน แล้วตอกลิ่มหนุนให้แน่น
เรือนใหญ่ ประกอบด้วย เติ๋นและห้องนอน (แบ่งครึ่งกัน)
เติ๋น เป็นห้องโถงใหญ่ ใช้เป็นที่รับแขก ทำบุญหรือพิธีต่าง ๆ
ห้องนอน ประกอบด้วย เหิ้น เป็นที่สำหรับนอนอยู่ในห้องซึ่งจะยกพื้นสูง ส่วนที่อยู่ชั้นล่าง เรียกว่า จอง ใช้เป็นที่อยู่ไฟ ระหว่างเหิ้นกับจอง เรียกว่า ช่องแมว ใช้สำหรับเก็บของ ห้องนอนจะมีบานประตู นิยมทำบานเดียว บางทีจะทำเป็นประตูหลอก โดยใส่อกเลาให้ดูคล้ายประตูสองบาน สลักประตูจะอยู่ข้างประตู แล้วเสียบไม้กันไม่ให้หลุดจากบานประตู เมื่อเข้าไปอยู่ในห้องแล้ว จะดันบานประตูซึ่งเจาะกับรูเข้ากับเดือยสลักประตู แล้วใช้ไม้เสียบที่รูไม้สลักประตูอีกครั้งหนึ่ง
หำยนต์ ติดอยู่บนประตูห้องนอน กันคุณไสยและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าไปทำร้ายเจ้าของบ้าน
ชาน อยู่ระหว่างเรือนใหญ่กับยุ้งข้าว บางบ้านก็มุงหลังคา บางบ้านก็ไม่มุงหลังคา
ชานมุง ใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ บางบ้านจะมี หอเย็น อยู่ถัดจากชานเข้าไป หอเย็นจะยกพื้นสูง ใช้เป็นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร รับแขก จะมีทางเดินได้รอบ ลมถ่ายเทได้รอบทิศ
ชานแดด (ชานไม่มุงหลังคา) ใช้ตากของ ปลายชานวางกระถางต้นไม้ ผักชี สาระแหน่
ยุ้งข้าว เรียกได้หลายอย่าง คือ ป้อมข้าว เฮียข้าว หลองข้าว นิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของเรือนใหญ่ มีชานแล่นกลาง เป็นที่เก็บข้าวเปลือกไว้รับประทานในครอบครัว
ครัวไฟ เป็นที่สำหรับปรุงอาหาร ประกอบด้วยกะบะไม้สี่เหลี่ยมใส่ดิน และมีก้อนเส้า 3 ก้อน เพื่อใช้วางหม้อสำหรับหุงต้มแกง
บันได จะพาดกับชานด้านเหนือ มี 2 แบบ คือ
1. พาดเวลาขึ้น หันหนาไปทางทิศใต้ เวลาลงหันหน้าไปทางทิศเหนือ
2. พาดเวลาขึ้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เวลาลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
และนิยมใช้ลูกขั้นบันไดเป็นเลขคี่ เช่น 5, 7, 9 ขั้น
หลังคา มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีลักษณะเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 6 นิ้ว ยาวประมาณ 12 นิ้ว ด้านล่างเป็นมุมฉาก ด้านบนมีลักษณะโค้งมนกลม วางลักษณะเรียงซ้อนกัน เพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงตัวบ้าน ใต้หลังคาจะมี เทิง เป็นไม้กระดานปูไว้สำหรับวางของ บางบ้านใช้ทำหิ้งผี บางบ้านใช้ทำหิ้งพระ
ช่องลม มีไว้ให้ลมพัดเข้า พัดออกและแสงเข้าไปในบ้านให้สว่างไม่มืดจนเกินไป บางบ้านจะมีซี่ระแนงตีกันไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันคนปีนเข้าบ้าน
จั่วบ้าน รูปตาลคลี่ มีความเชื่อว่า ใบตาลเป็นใบไม้ที่ใหญ่ที่สุด เมื่อนำมาติดบ้าจะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข บางบ้านทำเป็นจั่วเล็ก แล้วมุงยื่นออกมาทางด้านหน้า เรียกว่า แข
เสาโตน ในเฮือนลับแลหนึ่งหลัง จะมีเสาโตน 3 ต้น คือ เสาที่สูงกว่าเสาต้นอื่น ๆ เสาโตนต้นเหนือจะติดจั่วด้านเหนือ เสาโตนต้นกลางทำเป็นตาตารางเพื่อให้ลมผ่านได้ และกันคนปีนเข้าไปในห้องนอน
ขัวย่าน คือไม้ที่พาดติดกับเสาโตนด้านเหนือเพื่อใช้ขึ้นซ่อมแซมหลังคา
ไส้ปลาไหล (ไม้คู่) คือ ไม้ที่คีบขนาบติดเสาโตนทั้ง 3 ต้น เพื่อใช้ขึ้นซ่อมแซมหลังคา
ฝาผนังไม้ ฝาด้านเหนือ จะแบ่งเป็น 2 ช่วงเสา ซีกตะวันตกจะตีฝาตั้งประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ลมผ่านและมีแสงเข้า ไม่ให้มืด ซีกตะวันออกจะตีฝาตั้ง ตั้งแต่พื้นจนถึงเทิง ที่ฝาบ้านจะเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ เรียกว่า หน้าป่อง สำหรับมองผู้มาเยือน เพื่อไม่ให้เห็นตัวเจ้าของบ้าน ว่าผ้าเยือนจะมาดีมาร้ายประการใด ฝาด้านใต้ เป็นฝาสานและมีไม้เป็นลูกตั้งไม่ให้คนเข้าไปได้ ไม้ที่ปูพื้นไม่นิยมตัดให้เสมอกัน จะปล่อยให้ยาวหรือสั้นตามขนาดของไม้ และจะเห็นความสูงต่างระดับของเหิ้นกับจอง ฝาด้านตะวันออก ไม่นิยมมีหน้าต่างหรือหน้าป่อง จะเป็นฝาทึบหมด
2.วิถีในด้านภาษา
ภาษาลับแล
ภาษาลับแล ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ อันสำคัญยิ่งทางด้านภาษา ซึ่งภาษา ลับแลถือว่าเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านนา จึงทำให้ภาษาลับแลในอดีต ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูดเหมือนกับภาษาล้านนา แต่ในปัจจุบันภาษาที่ยังคงใช้อยู่ปัจจุบันนี้  คือ ภาษาพูด ซึ่งชาวับแลยังคงใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนภาษาเขียนนั้นยังคงมีใช้กันบ้างในทางพุทธศาสนา และยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ หมอพื้นบ้านที่ยังคงอ่านและเขียนได้
(เพิ่มเติมครูลี่อยู่ในช่วงการดำเนินการจัดระบบ)
(มีเอกสารหลักฐานเป็นหนังสืออักษรล้านนามอบให้เทศบาล)
3.วิถีในด้านการแต่งกาย
การทอผ้าตีนจก โดยใช้เครื่องทอ ที่เรียกว่า กี่
คำนาม เรียกว่า กี่
กริยา   เรียกว่า หูก เช่น การทอหูก
ลวดลายของผ้าทอตีนจกลับแล
          ลวดลายของผ้าทอตีนจกในอดีตแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
  1. กลุ่มลายหลักคือเป็นลวดลายที่เป็นหลักอยู่ตรงกลางของการทอผ้าตีนจกจะมีขนาดใหญ่กว่าเด่นกว่าลายประกอบลายหลักมีทั้งหมด 16 ลายโดยแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
    กลุ่มลายหงส์
               
ผ้าห่มหัวเก็บ  ผ้าชนิดนี้จะใช้สำหรับห่มในฤดูหนาว หรือห่มออกจากบ้านตอนอากาศเย็น ๆ ในตอนเช้า ลักษณะของผ้าห่มจะทอด้วยด้ายสีขาว เป็นดอกนูนลาย 2 หรือย่ำ 4 ตลอดทั้งผืน และจะมีเส้นยืน (เครือ) น้ำตาลคั่นเป็นระยะ ๆ จำนวน 5 ริ้ว ระหว่างลายกับชายครุยจะพุ่งด้วยด้ายสีเหลือง 1 ริ้ว ถัดจากหัวผ้าขึ้นไปจะเก็บเป็นลายของผ้าห่มหัวเก็บ ระหว่างลายต่อลายจะใช้ฝ้ายสีที่ทอถักเป็นท้องแมงดาคั่นระหว่างลายต่อลาย การทอจะทอเช่นเดียวกันนี้ 2 ผืน นำมาเพลาะติดกันให้เป็นผืนเดียว ด้านข้างและด้านล่างจะปล่อยเป็นชายครุยห้อยยาวลงมาเพื่อความสวยงาม
จกลับแล   ลายจกส่วนใหญ่มักจะนำไปจกลาย “ตีนซิ่น” เมื่อจกเรียบร้อยแล้วจะนำเอาตีนซิ่นไปต่อกับตัวซิ่นซึ่งเป็นคนละชิ้นกัน พร้อมกับต่อหัวซิ่นด้วยผ้าสีขาวแดง (การเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของซิ่นใช้วิธีการเรียกอย่างเดียวกับชาวไตยวนราชบุรี)
 ชนิดของตีนจก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. จกตีนซิ่นชนิดสีเดียวล้วน ๆ คือ สีเหลืองหรือเหลืองทอง วัสดุใช้ไหมหรือฝ้ายผสมกัน มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันคือ น้ำอ่าง เก็จถวา  (ขอกระเบื้อง, กระเบื้อง) แปดขอ (เตย) แปดขอไม่มีเตย (ธรรมดา) หงส์เครือใหญ่ หงส์เครือกลาง (เครือละลาม) หงส์เครือน้อย จกสมัย
   ลายจกตีนซิ่นชนิดหลายสีลายขอแปดและลายหงส์เครือใหญ่หรือลายน้ำอ่าง
      ซิ่นแล่ ตีนซิ่นเป็นสีดำเหลือบแดงเหลือง ตัวซิ่นสีน้ำเงินเข้มหรือสีนกพิราบ ขอบล่างบนเป็นสีแดงตรงกลางเป็นสีดำ ซิ่นชนิดนี้สามารถใช้ได้ทั่วไปและทุกงานไม่ว่าจะเป็น หญิงสาว หญิงแก่ แม่หม้ายตลอดจนคนแก่สูงอายุ (หญิง) ซิ่นไก ทอเช่นเดียวกันกับซิ่นแล่ แต่เปลี่ยนตัวสีน้ำเงินหรือสีนกพิราบเป็น “ไก” (การใช้ด้าย – ฝ้าย 2 สีปั่นควบกันเป็นเส้นเดียว ลักษณะแบบเดียวกันนี้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำไปทอเป็นผืนผ้าเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก”) ซิ่นไกแบบโบราณมักจะทอเป็นซิ่นไกล้วนทั้งตัวซิ่น และที่หัวของตัวซิ่นกับเล็บและตีนซิ่นจะจกเป็นรูปเครือวัลย์ประกอบอยู่
      ซิ่นซิ่ว เป็นซิ่นที่ทอลักษณะกับซิ่นไก แต่เปลี่ยนเป็นใช้ด้ายสีซิ่ว (สีเขียว) ทอคั่นด้วยเส้นสีดำเป็นตาๆ ส่วนหัวซิ่นและตีนซิ่นจะทออย่างเดียวกันทุกประการ ซิ่นซิ่วเป็นซิ่นที่ใช้เรียกกันโดยทั่ว ๆ ไปของชาวลับแล แต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น บ้านเหนือ บ้านหัวดง (อำเภอลับแล) เรียก “ซิ่นตาแหล้ม”   ซิ่นดำปึก ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับซิ่นที่กล่าวมาแล้ว แตกต่างที่ตัวซิ่นจะมีสีดำเข้ม ในทางล้านนา (แพร่, น่าน, เชียงใหม่) เรียกผ้าชนิดนี้ว่า “ก่านคอควาย” ซิ่นมุข ตัวซิ่นจะทอเป็นดอกสี่เหลี่ยมเล็กๆ เรียกว่า“ดอกมุขหรือยกมุข” ซิ่นลับแลแดง จะทอเป็นตาขนาดเท่าๆ กัน สีแดง จำนวน 5 – 6 ตา แต่ละตาจะมีเส้นขาวคั่นระหว่างกลางตาที่ 3 จะมีเส้นสีเหลืองคั่นอยู่ตลอด ใน 1 ตาใหญ่จะมีเส้นสีดำหนาคั่นเป็นระยะ ๆ จำนวน 5 เส้น เส้นที่ 6 จะใหญ่เป็น 2 เท่าหรือ 2เท่าครึ่งของเส้นสีดำ อนึ่ง การต่อตีนจกกับตัวซิ่นหรือตัวซิ่นกับหัวซิ่น (ขาว – แดง) มักจะใช้การเย็บต่อแบบเฉพาะ คือ       การเย็บแบบสนหางแลนหรือหางสิงห์ ลักษณะแบบอื่นก็มีบ้างแต่ไม่มากและไม่เป็นที่นิยมเหมือนหางสิงห์และหางแลน
หมอน
หมอนของชาวลับแลมีอยู่ 2 ชนิดคือ   หมอนหน้าอิฐ – หมอนหก   หมอนสามเหลี่ยม – หมอนขวาน
     หมอนหน้าอิฐ เป็นหมอนที่ชาวลับแลใช้ในชีวิตประจำวัน (หนุนนอน) มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนอิฐ  ตัวหมอนจะถูกแบ่งเป็นช่อง ๆ ไว้สำหรับยัดนุ่นได้ 6 ช่อง (6 ลูก) จึงเรียกว่า “หมอนหก” ตัวหมอนมักทำด้วยผ้าดิบหรือผ้าขาวด้านหน้าของหมอนทั้งสองข้างจะจกเป็นลาย 2 สี คือ เหลือง – เขียว หรือดำ – แดง ส่วนพื้นจะเป็นสีแดงหรือสีเปลือกมังคุด  
      หมอนสามเหลี่ยม หมอนขวาน เป็นหมอนสามเหลี่ยมด้านเท่ามีช่อง (ลูก) สำหรับยัดนุ่นจำนวน 15 ช่อง (15 ลูก) หมอนชนิดนี้ชาวบ้านลับแลมักทำถวายพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฆราวาสหรือชาวบ้านทั่วไปจะไม่ใช้
4.วิถีในด้านอาชีพ
ฤดูกาล / ระยะเวลา
ชาวลับแล เริ่มหว่านกล้าในต้นฤดูฝน เดือนหกของไทย ประมาณต้นเดือนกรกฎาคม แต่ในบางครั้งอาจจะคาดเคลื่อนได้ เพราะบางปีฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การหว่านกล้าจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตของกล้า อายุประมาณ 1 เดือน
ข้าวที่นิยมปลูก ในเมืองลับแล
ชาวลับแลนิยมปลูกข้าวเหนียว เพราะวัฒนธรรมการกินได้รับวัฒนธรรมมาจากทางเหนือ จึงกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ไม่นิยมกินข้าวจ้าว ข้าวที่ชาวลับแลในสมัยก่อนนิยมปลูก ก็จะมีหลายพันธุ์  เช่น  ข้าวเทวดา  ข้าวดอกพุด  ข้าวดอหอม  ข้าวดอตัน  ข้าวดอมะโก๋  ข้าวเล็บช้าง  ข้าวหลง  ข้าวนาสวน  เป็นต้น  ข้าวเหล่านี้เป็นที่นิยมปลูกในสมัยก่อนซึ่งปัจจุบันชาวลับแลก็ยังคงปลูกข้าวบางพันธุ์ไว้กินบ้าง
ผลผลิตที่ทำรายได้และชื่อเสียงให้กับเมืองลับแลก็คือ ลางสาด ทุเรียน  หอมแดง  นอกจากนี้ยามว่างจากการทำสวนทำไร่  ทำนาแล้วชาวเมืองลับแลยังผลิตสินค้าหัตถกรรมซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองลับแล เช่น การทอผ้าจก ผ้าห่ม ไม้กวาดตองกง    ชาวลับแล  มีความเป็นอยู่อย่างสงบ สันติ และมีไมตรี สร้างความอบอุ่น ประทับใจแก่ผู้ที่ได้มาเยือนเป็นยิ่งนัก
5.วิถีในด้านอาหาร
ความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตของ  ชาวอำเภอลับแลที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปคือเรื่องการทำอุสหกรรมในครัวเรือนข้าวแคบ “ข้าวแคบ” ถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และตำบลฝายหลวง มีการทำข้าวแคบทุกหลังคาเรือนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จนมีเรื่องตลกซึ่งมักจะคุยกันในวงเหล้าว่า เมืองลับแลนั้นเต็มไปด้วยผู้ล่าย และต้องหา ซึ่งผู้ล่ายในที่นี้เป็นภาษาชาวบ้าน หมายถึงผู้ไล้ข้าวแคบ(ผู้ไล้ข้าวแคบหมายถึง คนที่ละเลงน้ำแป้งลงบนผ้าที่วางบนปากหม้อที่มีไอน้ำเดือด) ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง ส่วนผู้ต้องหา หมายถึงสามี ที่มีหน้าที่ไปหาพื้นมาทำข้าวแคบ ชาวบ้านในอำเภอลับแลเล่าให้ฟังว่า การทำข้าวแคบนั้นมีนานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ สันนิษฐานว่า น่าจะมากว่า 100 ปีขึ้นไปและอาจมาพร้อมๆกับการมาสร้างเมืองลับแลของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเมื่อประมาณพุทธศักราช 1,500 (กรทักษ์ เม่นวังแดง และคณะ,2547) และที่เรียกว่าข้าวแคบนั้น เรียกตามลักษณะของปากหม้อที่ทำข้าวแคบ ตอนไล้แป้งซึ่งมีลักษณะแคบ
                             แต่เดิมนั้นข้าวแคบมีอยู่ 2 ลักษณะคือข้าวแคบธรรมดาและข้าวแคบงา มีขนาดใหญ่และหนากว่าในปัจจุบันส่วนใหญ่ชาวลับแลจะเรียกกันว่า “ข้าวแคบหนา”  รสชาติออกเค็ม มีส่วนผสมแค่แป้ง เกลือ และงาดำ เท่านั้น เวลาจะรับประทานข้าวแคบในสมัยก่อน จะนำมาปิ้งไฟ แล้วบดให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ (ภาษาพื้นบ้านของชาวลับแลเรียกว่า“การเนียงข้าวแคบ”) ใส่ถ้วยรับประทานกับข้าวเหนียวใส่หมูปิ้งก็ได้เป็นอาหารเช้าที่รับประทานในหนึ่งมื้อได้เลย เหมือนกับกับข้าวอย่างอื่น
                             นอกจากนั้นยังสามารถนำข้าวแคบที่เนียงแล้วมาใส่ยำยอดใบมะม่วง (ชาวลับแลเรียกว่า “ซ่าใบมะม่วง”) และแกงเลียง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวลับแลได้อีกด้วย ในสมัยก่อนชาวลับแลจะรับประทานข้าวแคบเป็นอาหารหลัก ต่างจากปัจจุบันที่บริโภคข้าวแคบเป็นอาหารว่างเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าวแคบแห้ง และการรับประทานอีกรูปแบบหนึ่งของคนลับแลสมัยก่อนคือ การนำข้าวเหนียวมาคลุกกับข้าวแคบที่เนียงแล้วปั่นเป็นแท่น เหมือนข้าวปั่น บางคนเอาข้าวแคบแห้งมาห่อกับข้าวเหนียวร้อนๆ ม้วนให้เป็นแท่ง (ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “โอโล่ข้าวแคบ”) ในสมัยก่อนมีการทำข้าวแคบแทบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะในหน้าหนาวมรการทำข้าวแคบจนเป็นประเพณี แต่ทำได้ไม่เยอะ จะทำไว้เฉพาะกินในครัวเรือนเท่านั้น และนิยมทำในลักษณะข้าวแคบแห้ง เพราะเก็บไว้ได้นาน หน้าฝนก็เก็บไว้ได้ ทำแล้วจะเก็บใส่ในตะเข่ง (“ตะเข่ง” เป็นภาษาพื้นบ้านมีความหมายเหมือนกับ “ตะกร้า”) แขวนไว้ในที่สูงๆเพราะกลัวลูกๆ แอบเอาไปกิน เวลาไปทำไร่ ทำนา ก็เอาข้าวแคบที่เก็บไว้มาห่อกับข้าวเหนียวประมาณ 2-3 พัน กินไประหว่างทาง เพื่อให้อิ่มท้อง ไม่ต้องเสียเวลามานั่งกิน เพราะสมัยก่อนต้องตื่นแต่เช้าเดินไปทำไร่     ทำนา ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว จึงสามารถพูดได้ว่า การทำข้าวแคบนั้นเป็นวิถีชีวิตของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  
                   “ข้าวแคบ” ที่เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวลับแลนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เป็นแผ่นแป้งบางๆที่ได้จากการไล้น้ำแป้งที่ผสมงาดำ เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ลงบนผ้าสีขาวหือสีดำที่วางบนปากหม้อดินขณะที่มีไอน้ำเดือดเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อโดยแผ่นแป้งที่ได้มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว เมื่อแผ่นแป้งสุกแล้วสามารถดัดแปลงทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิเช่นถ้านำแผ่นแป้งไปตากแดดจะได้“ข้าวแคบแห้ง”มีทั้งแบบธรรมดาและปรุงรส สามารถฉีกรับประทานได้ทันทีเป็นอาหารว่าง หรือจะนำไปห่อกับเส้นหมี่คลุกกับเครื่องปรุง ที่ชาวลับแลเรียกว่า “หมี่คุก” (คลุก) ก็ได้ นอกจากนี้ชาวลับแลมักจะนำข้าวแคบแห้งมาห่อพันกับข้าวเหนียว โรยกากหมู หมูหยอง หรือกับข้าวอื่นๆลงไปพันให้เป็นแท่งรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย นอกจากจะรับประทานในรูปของข้าวแคบแห้งแล้วแผ่นแป้งที่ไล้สุกสามารถรับประทาน สด ได้แก่ “ข้าวพัน”  ซึ่งได้จากการใช้ไม้ไผ่แบนๆ หรือชาวลับแลเรียกว่า ไม้หลาบ ม้วนแผ่นแป้งสุกแล้วรูดออก แต่ถ้าใส่ผักที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น ถั่วงอก คะน้า กลางตุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักบุ้งยอดขาว หรือผักอื่นๆลงบนแผ่นแป้งสุก ปิดฝาไว้สักครู่ เมื่อผักสุก ใช้ไม้หลาบพับแผ่นแป้งเป็นมุมห่อผักไว้ เหมือนกับการทำไข่ยัดไส่ จะเรียกว่า “ข้าวพันผัก” ถ้าใส่ไข่ลงไปตีบนแผ่นแป้งที่เริ่มสุกก่อนใส่ผัก จะเรียกว่า “ข้าวพันผักใส่ไข่” ในการรับประทานต้องปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ ซีอิ้ว และน้ำจิ้มที่รับประทานกับข้าวพันซึ่งประกอบด้วย พริกแห้งป่นปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล หรือจะโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว กากหมู หรือแคบหมู ด้วย ก็จะเพิ่มความอร่อยได้อีกทางหนึ่ง
          นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ชาวลับแลยังคิดค้น “ก๋วยเตี๋ยวอบ” ที่ดัดแปลงมาจากก๋วยเตี๋ยวน้ำทั่วๆไป รูปร่างหน้าตาจะเหมือนกับข้าวพันผัก และข้าวพันใส่ไข่ เพียงแต่ใช้ข้าวแคบแห้งมาทำให้อ่อนตัวบนปากหม้อดิน แทนการไล้แป้ง แล้วใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงกับเครื่องปรุงรส ใส่ลูกชิ้น หมูแดง ลงไปในข้าวแคบแห้งที่อ่อนตัว ห่อเหมือนข้าวพันผัก ตักใส่จาน แล้วตักน้ำก๋วย

ที่ว่าการอำเภอลับแล   โทรศัพท์  055-431-089
สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอลับแล
ที่ตั้ง :  324 ที่ว่าการอำเภอลับแล ถนนศรีพนมมาศ  ตำบลศรีพนมมาศ  อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์  รหัสไปรษณีย์ 53130 
โทรศัพท์ / แฟกซ์ : 

laplaedisdrict.uttaraditlocal.go.th